วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วิธีการนิรนัย/อนุมาน(Deductive Method) และวิธีการอุปนัย/อุปมาน(Inductive Method)

วิธีการนิรนัย/อนุมาน(Deductive Method) และวิธีการอุปนัย/อุปมาน(Inductive Method) คืออะไร
ใครเคยสับสนกับคำว่า “นิรนัย” “อนุมาน” “อุปนัย” “อุปมาน” บ้างไหม ผู้เขียนเคยสับสนคำทั้งสี่คำนี้ เวลาอ่านตำราแต่ละเล่มจะใช้คำแตกต่างกัน  ถ้าใช้คำว่า  นิรนัย จะคู่กับ อุปนัย, ถ้าใช้คำว่า อนุมาน จะคู่กับ อุปมาน,  สรุปว่า นิรนัยหรืออนุมาน ก็คือ Deductive  ส่วน อุปนัย หรืออุปมาน ก็คือ Inductive  แต่ผู้เขียนคุ้นเคยกับคำว่าอนุมาน และอุปมาน มากกว่า  จะขอใช้คำทั้งสองคำนี้ในการคุยกันวันนี้  
พอจำคำศัพท์ได้จึงมาดูความหมาย ก็สงสัยว่าทำไมเราต้องรู้ความหมายของอนุมาน และอุปมาน  ถ้ารู้แล้วจะมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการวิจัยอย่างไร
การอนุมาน และการอุปมาน เป็นการแสวงหาความรู้ความจริงโดยใช้เหตุผลในการลงข้อสรุป  พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว(2529 : 6) ได้สรุปให้เข้าใจง่ายๆไว้ว่า  การสรุปโดยใช้เหตุผล เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ได้มาซึ่งความรู้  ที่มาของความรู้ มาได้ 4 ทาง คือ 1.จากประสบการณ์  2.จากเหตุผล  3.จากผู้รู้ และ 4.จากการหยั่งรู้
การสรุปแบบอนุมาน เป็นการใช้เหตุผลจากทฤษฎี หลักการ ไปลงข้อสรุป  เขียนเป็นแผนภูมิได้ดังนี้
  
ยกตัวอย่าง
                                ดอกไม้สีขาวมีกลิ่นหอม       (ความรู้เดิม หรือประโยคอ้าง)
                                ดอกมะลิมีสีขาว                      (ความจริงย่อย)
                                ดอกมะลิมีกลิ่นหอม               (ข้อสรุป)
ดังนั้น ข้อสรุปแบบอนุมาน จะเป็นจริง ก็ต่อเมื่อความรู้เดิมหรือประโยคอ้างเป็นจริง  จึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงว่า ในการวิจัย หากเราอ้างทฤษฎี หลักการที่ไม่เป็นจริง จะทำให้การลงข้อสรุปในการวิจัยไม่เป็นจริง เพราะ การวิจัย คือการแสวงหาความรู้ความจริงที่เป็นระบบ ที่ให้ผลที่เชื่อถือได้
การลงข้อสรุปจากหลักการหรือความจริง ที่นำมาเป็นประโยคอ้าง ต้องเป็นประโยคที่เป็นความจริง ไม่เช่นนั้นการลงข้อสรุปก็จะผิดพลาดไปด้วย   เช่น
ผู้หญิงทุกคนชอบซื้อสินค้าที่มีของแถม             (ความรู้เดิม หรือประโยคอ้าง)
สร้อยระย้าเป็นผู้หญิง                                  (ความจริงย่อย)
สร้อยระย้าชอบซื้อสินค้าที่มีของแถม                     (ข้อสรุป)
จะเห็นได้ว่าข้อสรุปนี้ไม่ถูกต้อง เพราะความรู้เดิมที่นำมาอ้าง ที่ว่าผู้หญิงทุกคนชอบซื้อสินค้าที่มีของแถม ไม่เป็นความจริง ผู้หญิงไม่ได้ชอบซื้อสินค้าที่มีของแถมทุกคน
การสรุปแบบอุปมาน เป็นการสรุปจากความจริงย่อย เป็นประโยคอ้าง เพื่อลงข้อสรุปเป็นความจริงใหม่ ถ้าประโยคอ้างเป็นจริง ข้อสรุปนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นจริง เขียนเป็นแผนภูมิได้ดังนี้
 
ยกตัวอย่าง
แม่ชอบชื้อสินค้าที่มีของแถม             (ความจริงย่อย ประโยคอ้าง)
พี่สาวชอบซื้อสินค้าที่มีของแถม          (ความจริงย่อย ประโยคอ้าง)
เพื่อนผู้หญิงชอบซื้อสินค้าที่มีของแถม  (ความจริงย่อย ประโยคอ้าง)
ป้าชอบซื้อสินค้าที่มีของแถม                  (ความจริงย่อย ประโยคอ้าง)
ผู้หญิงชอบซื้อสินค้าที่มีของแถม            (ข้อสรุป)
การลงข้อสรุปแบบอุปมานนี้จะเป็นจริง ก็ต่อเมื่อ ความจริงย่อยที่นำมาอ้างนั้นเป็นความจริง ถ้ามองเชื่อมโยงถึงการวิจัย การสรุปแบบอุปมาน น่าจะใช้ในการวิจัยเชิงคุณภาพค่อนข้างมาก ดังนั้น ในการเก็บข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพ จะต้องใช้ความระมัดระวังให้ได้ข้อมูลจากพื้นที่การวิจัยที่แน่ใจว่าเป็นข้อมูลที่แท้จริง มิฉะนั้นจะส่งผลต่อการสรุปผลการวิจัย  ถ้าข้อมูลที่ได้มามิใช่ข้อมูลจริงการสรุปผลก็จะผิดพลาดไปด้วย
ถ้ามีข้อคิดเห็นอื่นๆ ก็เขียนมาแลกเปลี่ยนกันนะคะ
อ้างอิง พรศักดิ์  ผ่องแผ้ว(2529). ศาสตร์แห่งการวิจัย. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช
Ref: http://www.gotoknow.org/posts/370363

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น