วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ขอแค่เชื่อใจ ไว้ใจ ให้โอกาส เด็ก เยาวชน แก้ไขได้ทุกปัญหา

 
นราธิวาส 1 ใน 3 จังหวัด ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่สีแดง เข้ม ! ผู้เขียนมีโอกาสได้ลงมาทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างบ่อย  ซึ่งได้เชิญชวน เพื่อนๆ พี่ๆ ในที่ทำงานหลายครั้งว่า ถ้าได้ลองลงมาสัมผัสแล้วจะเข้าใจชีวิตพี่น้องจังหวัดนราธิวาส  และอยากให้กำลังใจในการสู้กระแสข่าวของความรุนแรงที่เห็นผ่านสื่อต่างๆ 
วันนี้ ได้มีโอกาสลงมาร่วมกิจกรรม“มหกรรมรวมพลังเยาวชนจังหวัดนราธิวาส เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ 80 พรรษา” ณ สวนกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาองค์กรเยาวชนจิตสาธารณะระดับตำบลจังหวัด ชายแดนใต้ของดร.รุ่ง แก้วแดง ประธานมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. บรรยากาศของงานโดยรอบมีเด็กๆ จำนวนมากนั่งชมการแสดงบนเวที อีกส่วนหนึ่งก็เตรียมตัวเพื่อการแสดงชุดต่อๆ ไป นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่มาร่วมในงานอีก แต่ที่สายตาได้สัมผัสเห็นคือความสนุกสนาน เสียงหัวเราะ อาการตื่นเต้นที่จะได้แสดงให้คนที่มาร่วมงานได้ดู แต่พอเหลือบสายตาไปอีกทางก็พบเหล่าทหารกล้า ยืนถือปืนอาวุธติดกาย คอยระแวดระวังภัย เสมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งความปลอดภัย และความอบอุ่นใจต่างๆ ให้แก่เรา
“ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า …
ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ข้อ 2 ข้าจะยึดหลักแห่งคารวะธรรม ปัญญาธรรม และสามัคคีธรรมในการปฏิบัติงานทั้งปวง
ข้อ 3 ข้าจะอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสังคม ชุมขน และประเทศชาติต่อไป”
สิ้นเสียงคำปฏิญาณของเยาวชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยผู้นำการปฏิญาณ นายเฉลิมชัย โสวิรัตน์ ประธานองค์กรเยาวชน 3 จังหวัด เปล่งเสียงประสานด้วยความหนักแน่น สะท้อนห้วงลึกในความรู้สึก  ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงอย่างหนักกับที่เป็นอยู่ทุกวัน  การที่ผู้ใหญ่กำลังทะเลาะกัน  เพราะยังไม่ได้สิ่งที่ต้องการ  จนไม่สนใจผลของความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งวันที่เด็กๆ และเยาวชนรวมพลังจัดกิจกรรมกันอยู่ เหตุการณ์ความไม่สงบก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเยาวชนคนหนึ่งถามพวกเราทีมงานที่มาจากกรุงเทพฯ ว่า “พี่ไม่กลัวเหรอ ทำไมพี่ลงมาล่ะ” คำถามง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ทำให้ทีมงานเรา ตอบไม่ถูก เพราะสัมผัสได้ถึงแววตาความจริงใจ พร้อมเสียงที่ปนความน้อยใจออกมาด้วย เราได้เพียงแต่ส่งรอยยิ้มและกำลังใจให้น้องๆ สู้ต่อไป
นายดีรีมาน ยิตอสอ ประธานองค์กรเยาวชนจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง หรือปู่รุ่ง  ชื่อที่เด็กๆ คุ้นเคยและชอบเรียกติดปาก  ปู่รุ่งเป็นเจ้าของโครงการ ฯ ซึ่งเห็นความสำคัญของเยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยฐานคิดที่เชื่อว่าเยาวชนทุกคนเป็นคนดี และสามารถเรียนรู้กันได้  จึงเน้นให้เยาวชนต่างตำบล ต่างวัฒนธรรม มารวมตัวกันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เกิดความสนิทสนมเป็นเพื่อนกันจนพัฒนาไปสู่องค์กรเยาวชนระดับจังหวัด และองค์กรเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และที่สำคัญกิจกรรมทั้งหมดมีเยาวชนเป็นผู้ดำเนินการ  เพราะต้องการให้เยาวชนได้ลงมือปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบันมีเยาวชนเข้าร่วมแสดงพลังของความเข้มแข็งกว่า 140 ตำบล โดยงานที่เยาวชนเข้ามาทำเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดตั้งและบริหารองค์กร เรียนรู้เรื่องของชุมชน ประวัติ ศิลปะพื้นบ้านเพื่อสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม การเรียนรู้เรื่องของอาชีพ โทษและพิษภัยของยาเสพติด การช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่พ่อ แม่ ต้องมาเสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบ
นาย อภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในฐานะประธานเปิดงานในครั้งนี้ กล่าวว่า เด็กและเยาวชนในที่นี้มีความเข้มแข็งมาก การทำงานร่วมกับมูลนิธิฯ เป็นความผูกพันกันมานาน และเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับจังหวัดนราธิวาสในการให้ความสำคัญกับเด็กและ เยาวชน เพราะนอกเหนือจากการคิดอ่านทำงานของเด็กเองแล้วยังได้มาช่วยเหลือภาคราชการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตและองค์กรเยาวชน ของจังหวัดด้วย เรามีองค์กรเยาวชนหลายรูปแบบ ทั้งสภานักเรียน องค์กรศูนย์เยาวชนของโครงการพัฒนาชุมชน และกระทรงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งสามารถรวมตัวเป็นภาคีองค์กรเยาวชนด้วยกัน เราอยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และสร้างพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน  ได้แสดงความคิดริเริ่มในการทำงาน โดย จังหวัดนราธิวาสได้ตั้งงบประมาณของจังหวัดให้น้องๆ เยาวชนตำบลละ 1 แสนบาท เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรม โดยมอบให้ทางพัฒนาชุมชนเป็นแม่งานใหญ่ ส่วนระดับอำเภอ และจังหวัดให้ พม. มาช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมของเด็กและเยาวชนต่อไป
“กิจกรรมวันนี้ มี 2 หัวใจสำคัญ 1การรวมพลังเยาวชนของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มาแสดงออกซึ่งความรัก สามัคคี ได้รู้จักว่าการมีเพื่อนฝูงเยอะๆ เป็นเรื่องที่ไม่ขาดทุน ได้พึ่งพาอาศัยกัน การมีองค์กรเยาวชนมาเป็นพี่เลี้ยงการขับเคลื่อนกิจกรรมเป็นเรื่องที่ดี เยี่ยม อยากให้ทุกคนได้ช่วยกัน การรวมพลังมี 2 ส่วน คือ ปัจจัยที่เกี่ยวกับตัวเราเอง จะต้องพัฒนาด้านร่างกายต้องแข็งแรง สติปัญญาเข้มแข็ง จิตใจต้องมั่นคงอยู่ในคุณงามความดีในด้านศาสนา คนเรามาอยู่ร่วมกัน 1 บวก 1 ทางคณิตศาสตร์ต้องเท่ากับ 2 แต่ความเป็นมนุษย์ 1 บวก 1 ทะเลาะกัน ตีกัน ฆ่ากัน อาจจะเท่ากับ 0 หรือติดลบก็ได้ แต่ถ้าเราจับมือกันทำงานด้วยกันมันก็เป็นบวก เมื่อมาอยู่ด้วยกันต้องมาร่วมกันคิดอ่าน มีกฎเกณฑ์กติกา มีวินัยของการอยู่ร่วมกัน เป็นเรื่องของสังคมที่จะต้องมาอยู่ด้วยกันในรูปขององค์กร ดังที่ ปู่รุ่งได้อบรมให้เด็กและเยาวชนมาอย่างยาวนาน หัวใจที่ 2 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ครบรอบ 84 พรรษา ผมขอยืนยันว่าในโลกกลมๆ ของเราใบนี้ มีการปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหลายประเทศ แต่ไม่มีประเทศใดที่พระมหากษัตริย์ทรงงานเหน็ดเหนื่อยตรากตรำพระวรกาย มีใจทุกข์ร้อนเมื่อเห็นพสกนิกรของพระองค์ไม่มีความสุข  ทรงเสด็จเยี่ยมและให้กำลังใจ และพระราชทานโครงการในพระราชดำริมากมาย การจัดงานอย่างน้อยครั้งนี้ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านก็เป็นงานที่สมควรได้รับการ ยกย่องสรรเสริญไว้ ณ ที่นี้ด้วย” นายอภินันท์ กล่าว
 
ปู่ รุ่ง อดีต รมช.ศึกษาธิการ อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) คนสำคัญของประเทศของเด็กและเยาวชน บอกกับเราว่า โครงการพัฒนาขีดความสามารถองค์กรเยาวชนเป็นแนวทางเดียวกับการปฏิรูปการศึกษา คือ การให้เด็กมาเรียนรู้ และดำเนินกิจกรรมด้วยตัวเอง การที่มูลนิธิเลือกศิลปะการแสดง เพราะเป็นกิจกรรมสร้างสร้างสรรค์ที่เยาวชนคุ้นเคย เรียนรู้และเข้าถึงเยาวชนได้ง่าย และ สิ่งสำคัญผู้นำศาสนายอมรับ หากเป็นดนตรีสมัยใหม่ ผู้นำศาสนารับไม่ได้ ดังนั้น จึงเลือกการแสดง ศิลปะวัฒนธรรม เช่น อนาซีค,ดีเกฮูลู,ตา รีกีปัส ฯลฯ เนื่องจากการแสดงเหล่านี้กำลังจะสูญหายไปหมด เด็กก็ไม่สนใจ และครูภูมิปัญญาก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไป เมื่อมูลนิธิริเริ่มฟื้นฟูครูภูมิปัญญาก็เข้ามาสอน เด็กๆ ก็เริ่มเข้ามาหัดเล่น โดยให้เด็กแสดงในชุมชนก่อน เป็นการเปิดตัวให้คนในชุมชนรู้จักองค์กรเยาวนชน  ซึ่งมูลนิธิชวนเด็กและเยาวชนที่ที่มีปัญหาทางสังคมมาร่วมกิจกรรม  เด็กจำนวนมากติดติดยาเสพติด สังคมไม่ค่อยยอมรับเท่าไร เมื่อเด็กเหล่านี้แสดงได้ สังคมก็เริ่มถามว่า เขาคือใครทำไมทำได้ เรียนมาจากไหน ทำไมถึงเป็นคนดี ส่งผลให้เด็กหลายคนเลิกยาเสพติด เพราะในการแสดงต้องใช้สมาธิ และต้องอาศัยระเบียบวินัยในการฝึกฝน  ดัง นั้น สังคมจึงเริ่มยอมรับ และเปิดพื้นที่ทางสังคมให้แก่เด็กกลุ่มนี้ เมื่อความสำเร็จขั้นแรกเกิดขึ้นแล้วในชุมชน ขยายผลทำต่อในระดับอำเภอ เพราะวัตถุประสงค์ของโครงการ ต้องการให้เด็กรู้จักกับคนต่างชุมชน ต่างอำเภอ  และจากอำเภอก็ขยายไปสู่จังหวัด
ดร.รุ่ง กล่าวต่อว่า เป้าหมายปลายทางเรื่องงานเยาวชน ทุกคนยอมรับหรือไม่ว่าสำคัญ? คำตอบที่ได้คือทุกคนยอมรับ กิจกรรมที่ดำเนินการมามีเยาวชนไม่ถึง 10% ที่อยู่ในกระบวนการทั้งเยาวชนในระบบและนอกระบบ และขณะนี้ มีองค์กร หน่วยงาน ทำเรื่องเยาวชนเยอะ และต่างเก็บกันเอาไว้ เราจึงมาคุยกันว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดท่านก็เห็นด้วยว่าทุกหน่วยราชการที่ทำงานเรื่องเด็ก และเยาวชนควรมาร่วมมือกันทำงาน ทั้ง กระทรวง พม. กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วิทยาลัยชุมชน (วชช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา ( สอศ.) มาร่วมกันทำและขยายกิจกรรมให้ครบทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ  ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีสุดท้ายแล้วที่โครงการฯ ดำเนินงานมาครบ 3 ปี ซึ่งเป้าหมายของโครงการคือได้รูปแบบการเรียนรู้ของเยาวชน และขณะนี้กำลังถอดบทเรียนเพื่อเสนอนโยบายให้ สสส. เพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับรัฐบาลต่อไป
“อยากให้รัฐบาลจริงจังกับการแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะอัตราการเกิดของประชากรภาคใต้ค่อนข้างสูง เช่น 1 ครอบครัวมีภรรยา 4 คน ลูก 20 คน ถือเป็นเรื่องปกติมาก และปัญหาที่พบคือไม่เรียนหนังสือ ติดยาเสพติด การใช้วิธีไล่จับ ไม่ได้ผล เพราะต้องให้เขาเรียนรู้เอง เข้าใจเอง เพราะท้ายที่สุดแล้วชีวิตเป็นของเขา ใช้กระบวนการที่เขาเห็นด้วย ใช้หลักศาสนาเป็นตัวกำกับ เพราะยาเสพติดนั้นเป็นข้อห้ามผิดหลักของศาสนา เป็นการต่อสู้กันระหว่างสิ่งดี กับสิ่งไม่ดี เราใช้การกดดันจากข้างนอก ไม่ใช่ข้างใน เพราะจากที่คุยกับเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่อยากเลิกเมื่อถามเด็กว่า รู้หรือไม่ว่าเป็นสิ่งไม่ดี รู้ เคยเลิก แต่ที่เลิกไม่ได้เพราะคนในสังคมใช้กันหมด ดังนั้น ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จึงมีเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและเป็นปัญหาสังคมเยอะมาก รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้แก่เด็กเหล่านี้ อย่าคิดสูตรสำเร็จรูปจากส่วนกลางมาให้เขาทำ แต่รัฐบาลควรเป็นผู้ให้การสนับสนุน ส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้ แนะนำ และเป็นผู้ประเมินผล โดยต้องให้ความเชื่อใจเขา ควรให้องค์กรเยาวชนเขาทำกันเอง คิดเอง แก้ไขเอง เพราะชีวิตเป็นของเขา” ดร.รุ่ง กล่าว
น.ส.สุไรณี เลาะใบ หนึ่งในเยาวชนจาก จ.ยะลา อายุ 17 ปี เล่าว่า ได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับมูลนิธิโดยเลือกกิจกรรมเรื่องบุหรี่ และศิลปะการที่เลือกกิจกรรมเกี่ยวกับให้เยาวชนในชุมชนไม่สูบบุหรี่ อยากจะทำ แม้รู้ว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะการสูบบุหรี่หรือยาเสพติดที่รู้จักกัน  คือ 4x100 เป็น สิ่งที่เห็นกันมานานและเป็นเรื่องปกติของคนในชุมชน แต่ก็อยากทำเพราะในครอบครัวก็มีปัญหาในเรื่องนี้ จึงอยากช่วยให้เพื่อนที่เป็นเยาวชนวัยเดียวกันกับเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มี คุณภาพ เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี ไม่ทำร้ายคนในครอบครัวเพราะอาการเสียสติจากการใช้สารเสพติด บุหรี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่สิ่งไม่ดีในเรื่องอื่นๆ ตามมา เด็กและเยาวชนในชุมชนที่อยู่ โดยเฉพาะผู้ชายไม่เรียนหนังสือ ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ก็พยายามที่จะหาเงินมาซื้อบุหรี่ ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงิน โดยไม่คำนึงถึงว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกหรือผิด จากการทำกิจกรรมก็เห็นความพยายามของบางคนที่อยากจะเลิก ซึ่งตนเองไม่ได้คาดหวังว่าคนที่มาร่วมกิจกรรมจะต้องเลิกในทันที 100 % ขอ แค่มีใจที่จะเลิก ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว แต่ตอนนี้รู้สึกเสียดายที่โครงการของปู่รุ่งกำลังจะจบแล้ว ตนยังอยากที่จะมาทำงานร่วมกับทางมูลนิธิ เพราะทำให้ได้ใช้เวลาทำประโยชน์ไปกับกิจกรรมดีๆ มีเพื่อนๆ ไม่ต้องมาเศร้ากับปัญหาครอบครัวที่เราเผชิญอยู่ อยากให้มีกิจกรรมดีๆ อย่างนี้ตลอดไป
 
ฝ่าย ปกครองอย่างรัฐบาล คนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เปิดใจให้โอกาสเด็กและเยาวชนเหล่านี้ ได้แสดงความคิดและฝีมือในการแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ ให้เกิดผลสำเร็จ เพื่อความสงบและสันติสุขจะได้กลับมาเสียที 

ที่มา: http://thaingo.org/thaingo/node/2036

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น