วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การประกอบการเพื่อสังคม: นวัตกรรมทางสังคมของผู้ประกอบการยุคใหม่

Social Entrepreneurship: A Social Innovation for New Generation Entrepreneurs
ดร. นิตนา ฐานิตธนกร
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

บทคัดย่อ
แนวความคิดการประกอบการเพื่อสังคมเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ผสมผสานทักษะทางธุรกิจของผู้ประกอบการเข้ากับเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสังคมซึ่งการประกอบการเพื่อสังคมมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนและแสวงหาโอกาสรูปแบบและวิธีการใหม่ๆในการเปลี่ยนแปลงสังคมมากกว่าการมุ่งเน้นสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียวดังนั้นการประกอบการเพื่อสังคมจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่งของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ต้องการประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง นอกจากนี้ผู้ประกอบการในยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจและสังคมตลอดจนการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยรวมอย่างยั่งยืน

Abstract
The concept of social entrepreneurship is viewed as a field of social innovation aligning entrepreneurial business skills with the goal of solving social problems. Social entrepreneurship aims to develop economic and social sustainability through pursuing the opportunities, patterns, and innovative practices for those social changes rather than focusing on profitability. Therefore, social entrepreneurship is an interesting alternative especially for new entrepreneurs to succeed in today’s competitive business environment. In addition, new generation entrepreneurs should place an emphasis on business and social development, adopting an innovative approach, resolving economic and environment problems, and making a positive impact on sustainable social change as a whole.

บทนำ
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั้งในภาครัฐภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาแล้วว่านวัตกรรมมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ได้ประเมินแล้วว่า 50-80% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดจากนวัตกรรม และความรู้ใหม่ (Mair & Marti, 2006) โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ซึ่งมีความหมายกว้าง ๆ ว่า “ความคิดใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการตอบสนองเป้าหมายทางสังคม” หรือหมายถึง “กิจกรรมและบริการใหม่ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของสังคมเป็นหลักโดยมีการพัฒนาและเผยแพร่ผ่านองค์กรเพื่อสังคม” (Mulgan, 2007) นิยามดังกล่าวได้แยกความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างนวัตกรรมทางสังคมและนวัตกรรมเชิงธุรกิจ (Business Innovation) ที่มุ่งแสวงหาผลกำไรและเผยแพร่ผ่านองค์กรที่เน้นการสร้างผลกำไรสู่องค์กรของตนเองนวัตกรรมทางสังคมมีหลากหลายรูปแบบได้แก่การออกแบบ (Design) เทคโนโลยี (Technology) การประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship) นโยบายสาธารณะ (Public Policy) การพัฒนาชุมชน (Community Development) และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement)

นอกจากนี้ นวัตกรรมทางสังคมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในธุรกิจที่ไม่แสวงผลกำไร เช่น สถาบันการศึกษามูลนิธิวัดสหกรณ์และองค์กรการกุศลต่างๆแต่นวัตกรรมทางสังคมที่มีอยู่มากมาย ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันยังถูกขับเคลื่อน โดยหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอาทิหน่วยงานทางการเมืองและรัฐบาล เช่น การให้บริการสาธารณสุขรูปแบบใหม่หน่วยงานด้านการเกษตรเช่นอาหารเกษตรอินทรีย์หน่วยงานด้านการตลาด เช่น โปรแกรมโอเพนซอร์สหน่วยงานด้านการเงินเช่นสหกรณ์ออมทรัพย์หน่วยงานด้านการศึกษาเช่นรูปแบบการสอนและการอนุบาลเด็กแนวใหม่และการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มสิทธิมนุษยชนกลุ่มสตรีกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

แนวคิดและความหมายของการประกอบการเพื่อสังคม
ทั้งนี้ นวัตกรรมทางสังคมที่กำลังได้รับการสนใจจากทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวางในปัจจุบันคือ การประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship) (Martin & Novicevic, 2010) จากการศึกษาวิจัยทางด้านการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) ในหลาย ๆ ประเทศพบว่าการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมนอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยรวมช่วยสร้างงานสร้างรายได้และทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและยังมีผลพวงทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน (Harding, 2006)
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเช่นมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสแตนฟอร์ดเคมบริดจ์และออกซ์ฟอร์ดได้เพิ่มสาขาการประกอบการเพื่อสังคมเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อประยุกต์ แนวความคิดสาขานี้ในการดำเนินธุรกิจพร้อมทั้งแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจริงจึงทำให้แนวความคิดนี้แพร่หลายไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วโลกโดยเชื่อว่าการประกอบธุรกิจเพื่อสังคมสามารถเป็นอีกหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องพึ่งหน่วยงานในภาครัฐเพียงอย่างเดียว (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2550)
ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ได้รับการกล่าวถึงในครั้งแรกโดย Peter Drucker (1979) ว่าเป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่ทางด้านสังคมและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอาทิหน่วยงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของสังคมและสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและ Goldenberg (2004) ได้ให้คำจำกัดความผู้ประกอบการเพื่อสังคมคือผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ในสังคมตลอดจนเป็นผู้สรรค์สร้างสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมจากการศึกษาของ Byers และคณะ (2011) ได้จำแนกประเภทของการประกอบการ (Entrepreneurial Ventures) ไว้ 5 ประเภทอย่างชัดเจนตามรายได้ขนาดลักษณะและวัตถุประสงค์ของกิจการได้แก่ธุรกิจขนาดย่อมธุรกิจเฉพาะกลุ่มธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดธุรกิจที่ไม่แสวงผลกำไรและธุรกิจที่มีผู้ประกอบการอยู่ภายในองค์กร ดังประเภทของการประกอบการ ต่อไปนี้
1.ธุรกิจขนาดย่อม (Small Business) การเติบโตของรายได้ ช้า ขนาดเล็ก ลักษณะเจ้าของคนเดียวและเป็นธุรกิจในครอบครัว
วัตถุประสงค์แสวงหาความอิสระและความมั่งคั่งให้แก่ตนเองและหุ้นส่วนโดยการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
2.ธุรกิจเฉพาะกลุ่ม (Niche) การเติบโตของรายได้ ช้า-ปานกลาง ขนาดเล็ก-ปานกลาง ลักษณะใช้โอกาสหรือตลาดที่มีอยู่อย่างจำกัด
วัตถุประสงค์แสวงหาการเติบโตอย่างมั่นคงของกิจการและรายได้ที่ดี
3.ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด (High Growth) การเติบโตของรายได้ เร็ว ขนาดปานกลาง-ใหญ่ ลักษณะต้องการการลงทุนสูงที่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่
วัตถุประสงค์มุ่งสร้างธุรกิจใหม่หรือนวัตกรรมใหม่ที่สำคัญ
4.ธุรกิจที่ไม่แสวงผลกำไร (Nonprofit Organization) การเติบโตของรายได้ ช้า ขนาดเล็ก-ปานกลาง ลักษณะให้บริการแก่สมาชิกหรือสังคม
วัตถุประสงค์มุ่งตอบสนองความต้องการของสังคม
5.ธุรกิจที่มีผู้ประกอบการอยู่ภายในองค์กร (Corporate New Venture) การเติบโตของรายได้ ปานกลาง-เร็ว ขนาดใหญ่ ลักษณะเป็นหน่วยงานอิสระขององค์กร
วัตถุประสงค์มุ่งสร้างหน่วยธุรกิจใหม่หรือนวัตกรรมใหม่ที่สำคัญหรือขยายหน่วยงานขององค์กร
ที่มา:Byers,T.H.,Dorf,R.C.,&Nelson,A.J.(2011). Technology venture: From idea to enterprise, 3rd Ed. Singapore: McGraw-Hill, 180.

โดยการประกอบกิจการส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ ในการดำเนินธุรกิจที่เน้นสร้างความมั่งคั่งและความเติบโตของผลกำไรให้แก่เจ้าของกิจการและหุ้นส่วนยกเว้นธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมโดยรวมดังนั้นการประกอบการเพื่อสังคมมุ่งที่จะตอบสนองความต้องการของสังคมเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจจึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไร นอกจากนี้ Dees (2001) และ Drayton (2006) ได้กล่าวถึงผู้ประกอบการเพื่อสังคมว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งสอดคล้องกับนิยามบางส่วนในรายงานของ Global Entrepreneurship Monitor: GEM ที่ศึกษากิจกรรมของผู้ประกอบการทั่วโลกได้ให้นิยามการประกอบการเพื่อสังคม หมายถึงผู้ประกอบการที่ตระหนักถึงปัญหาของสังคมและสรรหาแนวทางใหม่ๆในการแก้ไขปัญหาและสร้างคุณค่าทางสังคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนที่พยายามใช้โอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่หรือสรรค์สร้างกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยมุ่งหวังเพื่อสนองความต้องการของสังคมหรือชุมชนมากกว่าการมุ่งสร้างผลกำไรในเชิงธุรกิจคืนสู่ผู้ถือหุ้น (Harding, 2006)

กล่าวโดยสรุปนิยามของการเป็นผู้ประกอบการ จะมุ่งเน้นการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนสู่สังคม (Mair & Marti,2006) การแก้ไขปัญหาสังคม (Drayton, 2006) และนิยามส่วนใหญ่ จะกล่าวเป็นนัยถึงการแสวงหาและใช้โอกาสในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมมากกว่าการมุ่งเน้นสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว (Zahraetal., 2009) แนวความคิดการประกอบการเพื่อสังคมจึงเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่อาศัยทักษะทางธุรกิจของผู้ประกอบการผสมผสานเข้ากับเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนดังนั้นการประกอบการเพื่อสังคมจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่งของผู้ประกอบการใหม่ที่ต้องการประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนตลอดจนการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ยั่งยืน

ขอบเขตของการประกอบการเพื่อสังคม
แนวทางสำหรับการประกอบการเพื่อสังคมนั้นมีหลากหลายรูปแบบโดยเน้นที่การสร้างประโยชน์สู่สังคมการใช้โอกาสและแนวทางกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างรายได้และนำไปใช้ในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสังคมเช่นการจ้างงานหรือการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเป็นต้น (Drainmin, 2004) จากนิยามของการประกอบการเพื่อสังคมซึ่งส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่าการไม่แสวงผลกำไรเป็นคุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญของการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมแต่มีนักวิชาบางกลุ่มโต้แย้งว่าการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องเน้นที่การไม่แสวงหากำไรเท่านั้นแต่การประกอบธุรกิจเพื่อสังคมเป็นไปได้ทั้งประเภทที่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไรโดยยึดถือการตอบแทนประโยชน์สู่สังคมเป็นแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจพยายามกระจายรายได้สู่หน่วยผลิตในกลุ่มสังคมคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมเอื้อเฟื้อแบ่งปันกระจายข้อมูลข่าวสารความรู้และวิทยาการในหมู่สมาชิก รวมทั้งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการลดต้นทุนการผลิตและใช้ทรัพยากรการผลิตต่าง ๆ ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดการประกอบธุรกิจเพื่อสังคมมักจะเน้นที่คุณค่าในตัวมนุษย์แต่ละบุคคลมากกว่าฐานะรายได้ศักยภาพในการผลิตของแต่ละบุคคลจะถูกนำมาออกมาใช้งานในฐานะผู้เป็นเจ้าของหน่วยผลิตของสังคม (บริษัทโซเชียลเอ็นเตอร์ไพร์ส, 2551) การประกอบการเพื่อสังคมจึงสามารถก่อให้เกิดการพึ่งพาตนเองและการพัฒนาสังคมที่ควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (Martin & Novicevic, 2010) การประกอบการเพื่อสังคมนั้นมีจุดมุ่งหมายเดียวกับองค์กรการกุศลที่มุ่งช่วยเหลือสังคมแต่จะอยู่กึ่งกลางระหว่างองค์กรการกุศลที่มุ่งเน้นประโยชน์เพื่อสังคมเพียงอย่างเดียวกับองค์กรธุรกิจที่มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การสร้างผลกำไรโดยการประกอบการเพื่อสังคมนั้นจะมุ่งเน้นทั้งในด้านของการพัฒนาสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการทำกำไรเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมเพื่อสังคมต่อไป (พสุเดชะรินทร์, 2552) ตัวอย่างของผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่สามารถช่วยเหลือสังคมและสร้างผลตอบแทนให้ธุรกิจอย่างยั่งยืนได้แก่ท่านโมฮัมมัดยานุสซึ่งเป็นนายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศท่านได้ก่อตั้งและบริหารธนาคารเพื่อคนจนโดยริเริ่มและพัฒนาแนวคิด“ไมโครเครดิต”หรือการให้กู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันซึ่งมีผลทำให้ประชนชนผู้ยากจนในชนบทจำนวนมากได้มีโอกาสได้กู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพทำให้มีสภาพความเป็นอยู่และฐานะที่ดีขึ้นในขณะเดียวกันธุรกิจของท่านยานุสได้ขยายสาขาเติบโตไปอย่างต่อเนื่องและมีฐานลูกค้ากว่า 25 ล้านคนทั่วโลกทำให้ท่านยานุสได้รับรางวัลโนเบลในปี 2006 (Martin & Osberg, 2007) สำหรับตัวอย่างผู้ประกอบการเพื่อสังคมในประเทศไทยมีมากมายอาทิกรณีของร้านภูฟ้าที่มีเป้าหมายการดำเนินงานที่มุ่งสร้างวงจรการตลาดที่มีประสิทธิภาพระหว่างชุมชนในท้องถิ่นทุรกันดารกับผู้บริโภคพร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นพัฒนาอาชีพให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดารรวมถึงการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น(พสุเดชะรินทร์, 2552) รวมไปถึงนิตยสาร BE Magazine ซึ่งเป็นนิตยสารเพื่อสังคมเล่มแรกของเมืองไทยที่มุ่งช่วยเหลือคนขาดโอกาสในสังคมโดยการสร้างอาชีพให้คนยากจนไร้ที่อยู่อาศัยสามารถรับนิตยสารไปขายเพื่อแก้ปัญหาขอทานไปจนถึงคนเร่ร่อนไร้อาชีพทั้งนี้ผู้ก่อตั้งนิตยสารดังกล่าวได้เล็งเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจเพื่อสังคมในเมืองไทยเพราะคนไทยมีเมตตานิยมช่วยเหลือเกื้อกูลและการให้และเขามีความเชื่อว่าธุรกิจเป็นระบบที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาสังคมได้รวดเร็วที่สุด (อิศรา พนาราม, 2553) การประกอบการเพื่อสังคมไม่เพียงเป็นการช่วยเหลือผู้ขาดโอกาสเท่านั้นแต่ยังเป็นการสอนให้คนเหล่านั้นรู้จักช่วยเหลือตนเองซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ แนวคิดของการประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship) มีความคล้ายคลึงกับแนวคิดของการประกอบการหรือการเป็นเจ้าของธุรกิจทั่วไป (Entrepreneurship) เนื่องจาก ทั้งการประกอบธุรกิจเพื่อสังคมและการประกอบการนั้นผู้ดำเนินการจะต้องเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ซึ่งเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณผู้ประกอบการรู้จักมองหาและใช้โอกาสมีความมุ่งมั่น การมุ่งเน้นความสำเร็จกล้ารับความเสี่ยงมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในดำเนินธุรกิจหรือในการสร้างธุรกิจใหม่ (Sukasame & Lee, 2008) ดังนั้นแนวคิดทั้งสองจึงสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมแต่การประกอบการเพื่อสังคมนั้นสามารถช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้โดยตรงในขณะที่การประกอบการจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวทางอ้อมเท่านั้นนอกจากนี้การประกอบธุรกิจเพื่อสังคมและการประกอบการมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนที่เป้าหมายในการดำเนินธุรกิจโดยที่การเป็นผู้ประกอบการมีเป้าหมายในความสำเร็จอยู่ที่การสร้างความมั่งคั่งและผลกำไรสูงสุดให้แก่เจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นเป็นหลักในทางตรงกันข้ามการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมทั้งในส่วนที่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไรต่างยึดแนวทางด้านพัฒนาสังคมเป็นหลักส่วนผลกำไรที่เกิดจากดำเนินการนั้นจะถูกนำกลับมาลงทุนเพื่อทำพันธกิจทางด้านสังคมต่อไปมากกว่าที่จะนำผลตอบแทนไปกระจายให้แก่เจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้น (Boschee & McClurg, 2003) ทั้งนี้ การประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneurship: SE) และการดำเนินธุรกิจที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) มีเป้าหมายที่คล้ายคลึงกันกล่าวคือมุ่งที่จะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมแต่การดำเนินธุรกิจที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมนอกจากจะพยายามสร้างการยอมรับความน่าเชื่อถือและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคมแล้วยังเป็นการสร้างฐานลูกค้าของตนในอนาคตซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันและผลกำไรที่เพิ่มขึ้นขององค์กรนั่นเอง การดำเนินธุรกิจที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม จึงสามารถนำพาองค์กรธุรกิจไปสู่ความสำเร็จด้านการเงินและผลประกอบการที่ดีในขณะที่การประกอบการเพื่อสังคมมีเป้าหมายสุดท้ายเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยที่ผลตอบแทนที่ได้มานั้นจะนำกลับไปตอบแทนสู่สังคมช่วยส่งเสริมให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การประกอบการเพื่อสังคมจึงมีขอบเขตบางส่วนที่คล้ายคลึงกับการดำเนินธุรกิจที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมการประกอบการและองค์กรการกุศลแต่การประกอบการเพื่อสังคมมีขอบเขตที่กว้างกว่าแนวคิดที่กล่าวมาในข้างต้นโดยครอบคลุมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นระบบทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม

บทสรุป
แนวคิดการประกอบการเพื่อสังคมทั้งในส่วนที่แสวงหากำไรและไม่แสวงหากำไรต่างยึดแนวทางด้านการพัฒนาสังคม เป็นหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ใช้โอกาสความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดความมั่งคั่งยั่งยืนดังนั้นการประกอบการเพื่อสังคมจึงเป็นนวัตกรรมทางสังคมรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานความลงตัวระหว่างการใช้ทักษะทางธุรกิจของผู้ประกอบการผนวกเข้ากับเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยุคใหม่ที่ต้องการประสบความสำเร็จจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนที่เกื้อกูล ทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับธุรกิจเพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆด้าน

บรรณานุกรม
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์.(2550).เปิดตัวหลักสูตรใหม่ “ผู้ประกอบการเพื่อสังคม”.ค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2553, จากhttp://www.kriengsak.com/index.php?components.
บริษัท โซเชียลเอ็นเตอร์ไพร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (2551). Social Enterprise คืออะไร ค้นเมื่อ 22 สิงหาคม2553, จากhttp://www.se-thailand.org/2008/index.php?option=com_content&task=view&id=1itemid=1
พสุ เดชะรินทร์ (2552) ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur). กรุงเทพธุรกิจ.วันที่ 13 มกราคม 2552.
อาศิรา พนาราม (2553). BE Magazine นิตยสารเพื่อสังคมต่อสู้ความยากไร้ด้วยการให้อาชีพค้นเมื่อ 22 สิงหาคม2553, จากhttp://www.tcdcconnect.com/content/blog/?p=5264
“SocialEnterprise”มิติใหม่ธุรกิจเพื่อสังคม.กรุงเทพธุรกิจออนไลน์.วันที่ 6 มกราคม 2553
Boschee,J.&McClurg,J.(2003).Toward a better understanding of social entrepreneurship:
Someimportantdistinctionshttp://www.sealliance.org/better_understanding.pdf
Byers,T.H.,Dorf,R.C.,&Nelson,A.J.(2011). Technology venture: From idea to enterprise,3
Rd Ed.Singapore:McGraw-Hill.
Draimin,T.(2004). Engaging the new social entrepreneurism. Tides Canada Foundation.
Drayton,B.(2006,Winter). Everyone a change maker: Social entrepreneurship’s ultimate goal. Innovation. MIT Presswith Harvard University and George Mason University.
Drucker,P.(1979).The practice of management. London: Pan Books.
Goldenberg,M.(2004). Social innovation in Canada: How the non-profit sector serves Canadians and how it can serve them better. Canadian Policy Research Networks Inc.(CPRN).
Harding,R.(2006). Social entrepreneurship monitor: United Kingdom. Global Entrepreneurship
Monitor United Kingdom. London Business School and The Work Foundation.
Mulgan,G.(2007). Social innovation: What it is, why it matters and how it can be accelerated. The Young Foundation. London: The Basing stoke Press.
Mair, J. & Marti, I.(2006). Social entrepreneurship research: A source of explanation, prediction, and delight. Journal of World Business,41, 36-44.
Martin, J.S. & Novicevic,M.(2010). Social entrepreneurship among Kenya farmers: A case example of acculturation challenges and program successes. International Journal of Intercultural Relations. doi:10.1016/j. ijintrel.2010.05.007
Martin,R.L.&Osberg,S.(2007,Spring). Social entrepreneurship: The case for definition.
Stanford Social Innovation Review, 29-39.
Sukasame,N. & Lee, S.M.(2008). An empirical study of critical factors relating to the competitive success of e-commerce entrepreneurs in Thailand. BUA cademic Review,7(2),81-103.
Zahra, S.A., Gedajlovic, E., NeubaumD.O., Shulman, J.M.(2009). A topology of social entrepreneurs: Motives, search processes and ethical challenges. Journal of Business Venturing, 24, 519-532.

-----------------------------------------
Executive Journal, p16-p20

http://www.google.co.th/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=7&ved=0CFcQFjAG&url=http%3A%2F%2Fwww.bu.ac.th%2Fknowledgecenter%2Fexecutive_journal%2Foct_dec_10%2Fpdf%2Faw1.pdf&ei=8zFfUpDyF4f3rQeE04DYAQ&usg=AFQjCNEhbCsNCj5aRzzLGvf7iTpvgDDhoA&bvm=bv.54176721,d.bmk&cad=rja

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น