วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

แนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาเยาวชน

เยาวชน หมายถึงผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี

การพัฒนาเยาวชนมีแนวคิดพื้นฐาน 6 ประการ คือ
1. เยาวชนมีเกียรติ สิทธิ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
2. การพัฒนาคนนั้นเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตลอดชีวิต ในช่วงชีวิตหนึ่ง ๆ ต่างก็มีจุดวิกฤต และจุดเด่น อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีระ การรับรู้โดยเฉพาะด้านการปรับตัว และการปรับบทบาท อันเนื่องมาจากประสบการณ์ และอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม
3. ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ ปรากฎชัดเจนกล่าวคือความยากจน สภาพทุพโภชนาการ การมีโรคภัยไข้เจ็บ ความด้อยโอกาสในการศึกษา ความไม่รู้ การขาดทักษะเชิงอาชีพ การไม่มีงานทำ การเพิ่มประชากร การไม่ได้รับการบริการพื้นฐานที่ทั่วถึง และบริการที่ขาดคุณภาพ ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรง และทางอ้อม ต่อการพัฒนาเยาวชน โดยทั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา และเสริมให้มีสภาพเศรษฐกิจที่สร้างปัญหาให้แก่เยาวชนเอง อันมีผลทำให้เยาวชนบางกลุ่มกลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด
4. เยาวชนควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพื่อให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
5. จำเป็นต้องสร้างโอกาสให้เยาวชนทุกคนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ โดยเฉพาะเยาวชนที่มีโอกาสมากกว่าจะต้องช่วยพัฒนาผู้ด้อยโอกาส
6. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อน และต้องลงทุนสูงจึงตควรระวังมิให้เกิดการสูญเปล่าโดยใช้วิธีการป้องกันมากกว่าการแก้ใข

ทั้ง 6 ข้อนี้คือ แนวความคิดพื้นฐานในการพัฒนาเยาวชนที่คณะกรรมการศึกษาแห่งชาติได้กำหนดเป็นกรอบเพื่อกำหนดนโยบาย และวิธีการหลักในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ

แนวความคิดเกี่ยวกับเยาวชน
เนื่องจากเยาวชนเป็นกำลังสำคัญที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ดังนั้นจึงมีการคาดหวังบทบาทที่เยาวชนพึงปฏิบัติ โดยอาจแบ่งความคาดหวังต่อบทบาทของเยาวชนได้ 7 ประการ
1. เยาวชน คือสมาชิกของครอบครัว และสังคม ซึ่งต้องฝึกฝนอบรมให้รู้จักบทบาทของตนในครอบครัว และการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น
2. เยาวชนไทย คือกำลังในการปกป้องรักษาบ้านเมืองจึงต้องอบรมให้วินัยแบบทหาร และมีความรู้สึกในเรื่องชาตินิยม
3. เยาวชนไทย คือ พลังในทางเศรษฐกิจ จะต้องพัฒนาให้เป็นกำลังผลิตที่พอเพียงกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยการศึกษาในระบบโรงเรียนเป็นเครื่องมือ
4. เยาวชนไทย คือ พลังในการพัฒนาเศรษฐกิจจึงต้องพัฒนาให้เหมาะสมทั้งปริมาณ และคุณภาพโดยอาศัยการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ
5. เยาวชน เป็นทั้งผู้รับการพัฒนา และผู้ดำเนินการพัฒนาด้วย โดยเฉพาะเยาวชนในกลุ่มที่มีระดับการศึกษาสูง จะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในการกระจายการพัฒนาไปสู่ผู้ด้อยโอกาส ดังนั้นต้องตระหนักในบทบาทและการมีระเบียบวินัยในตนเอง
6. เยาวชน เป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมเพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อความอยู่รอดปลอดภัยของสังคมในอนาคต
7. เยาวชน ต้องเป็นคนที่มีความรู้ มีสติปัญญา มีเหตุผล มีคุณธรรม และวัฒนธรรม มีพลานามัยที่สมบูรณ์ มีทักษะในการประกอบอาชีพ พึ่งตนเองได้ เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม มีความรู้ความสามารถ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ

จากแนวความคิดเกี่ยวกับเยาวชนทั้งหมด สรุปได้ว่ามีนโยบายเยาวชนแห่งชาติและมีนโยบายปรากกฏของรัฐบาลแต่ยังไม่มีพัฒนาเยาวชนล้วน ๆ ระดับชาติเลย  ทำให้การพัฒนาเยาวชนไร้ทิศทางที่แน่นอน ขาดการปฏิบัติงานที่ต่อเนื่อง ขาดการประสานงาน ทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธา และสงสัยในเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐบาล 


อ้างอิง
๑. http://arts.kmutt.ac.th/ssc210/Group%20Project/G243/kmutt%20out%20to/thing2.2.htm
๒. แผนพัฒนาเยาวชนแห่งชาติ ปี ๒๕๕๕ - ๒๕๕๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น