วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Selamat Buddy ASEAN Community 2012

โครงการ Selamat Buddy
อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
สามารถสร้างทีมงานในพื้นที่
เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558
ร่วมกับ อำเภอเยอลี รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย


ความรู้ทางวิชาการที่ใช้ในการดำเนินการ
1. การพัฒนาชุมชน
2. พิธีการทูต (Diplomatic protocol) และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations)
3. รัฐประศาสนศาตร์และเศรษฐศาสตร์
4. เทคโนโลยีสารสนเทศ
5. ภาษามลายูและภาษาอังกฤษ

แนวความคิดที่ใช้ในการดำเนินการ
ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ประกอบด้วย 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย (2510) สิงคโปร์ (2510) อินโดนีเซีย (2510) มาเลเซีย (2510) ฟิลิปปินส์ (2510) บรูไน (2527) เวียตนาม (2538) ลาว (2540) พม่า (2540) กัมพูชา (2542) มีประชากรรวมกันประมาณ 570 ล้านคน มีขนาดเศษฐกิจที่โตมาก
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2552 ผู้นำอาเซียนได้ลงนามรับรองปฏิญญาชะอำ หัวหิน ว่าด้วยแผนงานจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ค.ศ. 2009-2015) เพื่อจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 (ค.ศ.2015) ร่นเวลาจากปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ที่เป็นข้อตกลงเดิมในเดือนตุลาคม 2546 ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน เรียกว่า ข้อตกลงบาหลี 2 เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมา อัตราการเติบโตและการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของจีนและอินเดียสูงมาก ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 เสาหลัก (pillars) ซึ่งถือเป็นกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ดังนี้
1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community – ASC) มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันได้
2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน
3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-CulturalCommunity – ASCC) มุ่งให้ประชาชนในภูมิภาคอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี และมีความมั่นคงทางสังคม
อำเภอสุคิรินเป็นอำเภอชายแดนติดกับอำเภอเยอลี รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน ปี 2558 และต้องการพัฒนาศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สหพันธรัฐมาเลเซีย (Republic of Malaysia)
เนื่องจากความเป็นประชาคมอาเซียน ปี 2558(ASEAN Community 2015) เกี่ยวข้องโดยตรงกับชุมชน (Community) อำเภอสุคิริน จึงใช้การพัฒนาชุมชน (Community Development) ในการเตรียมความพร้อมประชาชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ และให้ประชาชนมีความรู้สึกเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาร่วมกัน (Collaborative Partnership)
การสร้างทีมงานอำเภอเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558
1. ระยะเวลาการสร้างทีมระดับอำเภอตั้งแต่ 18 พฤศจิกายน 2554
2. สาระและขั้นตอนการดำเนินการ
1) ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
2) บันทึกข้อตกลง (MoU: Memorandum of Understanding) และกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ อาทิเช่น ฝ่ายติดต่อประสานงานและล่าม ฝ่ายจัดการด้านกีฬา ฝ่ายจัดการด้านอาหาร ฝ่ายต้อนรับและล่าม พิธีกร ฯลฯ เป็นต้น
3) นายอำเภอออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการ 2 คณะ ได้แก่
(1) คณะกรรมการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนปี 2558
(2) คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลและสารสนเทศ
4) เตรียมข้อมูลที่ต้องการประชุมหารือ
5)เตรียมนักกีฬา (เมื่อมีการเล่นกีฬานัดกระชับมิตร)
6) ประสานกำหนดการที่แน่นอน และแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ
7) นัดเวลาเดินทาง ในกรณีเดินทางไปอำเภอเยอลี หรือนัดเวลาต้อนรับ ในกรณีคณะจากอำเภอเยอลี เดินทางมาเยี่ยม
8) สรุป/ประเมินผล เสนอผู้บังคับชาทราบอย่างเป็นทางการ/ไม่เป็นทางการ
9) จัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น การจัดการแข่งขันกีฬานัดกระชับมิตร การเตรียมความพร้อมของประชาชน ฯลฯ เป็นต้น

ผลสำเร็จของงาน (เชิงปริมาณ/คุณภาพ)

อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ได้มีการเดินทางไปมาหาสู่เชื่อมสันถวไมตรีมาตลอด เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทางการของอำเภอเยอลี รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย มาโดยตลอด อาทิเช่น

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 YABrs Haji Abd. Manan Bin Ali นายอำเภอเยอลีและคณะ จำนวน 43 คน ได้เดินทางมาเยี่ยมอำเภอสุคิริน และมีการเล่นกีฬาฟุตบอลนัดกระชับมิตร

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 นายสาโรช กาญจนพงศ์ นายอำเภอสุคิรินและคณะ ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอและเจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 37 คน ได้เดินทางไปเยี่ยมอำเภอเยอลี เพื่อประชุมหารือแบบทวิภาคีกับอำเภอเยอลีมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมหารือ ในสัดส่วนหรือจำนวนและตำแหน่งที่เท่ากันกับเจ้าหน้าที่ของอำเภอสุคิริน โดยฝ่ายอำเภอสุคิรินเป็นฝ่ายตั้งประเด็น (Points of discussion) ไว้ ดังนี้

1. How to build strong and long lasting relationship between Jeli and Sukhirin?
2. How to learn from each others experiences and approaches?
3. How to progress in educationaleconomical and social aspects
4. The “re-opening of Kalai-Phukhao Thong border”? That will Promote Free day Market which will give chance to our people to have easy trade andit will also promote tourism in this area absence of which is really a big drawback.
ข้อสรุปจากการดำเนินการเบื้องต้น
ประเด็นที่ 1 คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอำเภอเยอลีและอำเภอสุคิริน ซึ่งทางการอำเภอเยอลี จะมาเยี่ยมอำเภอสุคิรินเป็นการตอบแทนในเดือนพฤษภาคม 2555
ประเด็นที่ 2 และ 3 คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็น ซึ่งมีประเด็นหารือเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม สำหรับการศึกษาทางอำเภอเยอลีไม่สามารถที่จะแลกเปลี่ยนนักศึกษาได้ แต่สามารถที่แลกเปลี่ยนด้านการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการสอน และการนำนักศึกษาไปดูงาน และอาจจัดเป็นการจัดค่ายร่วมกันได้ ซึ่งจะต้องมีการหารือเป็นการเฉพาะ ส่วนด้านเศรษฐกิจ ทางอำเภอเยอลีสนใจในความสามารถด้านหัตถกรรมของอำเภอสุคิริน ซึ่งทางอำเภอสุคิรินจะมีฝีมือในการทำเฟอร์นิเจอร์หวาย การสลักบานประตู การทำโต๊ะเก้าอี้จากเศษไม้ ส่วนอาหารก็จะมีกล้วยฉาบ กล้วยกรอบ และขนมอื่น ๆ มีพืชผักและผลไม้ตามฤดูกาล ทางด้านสังคมก็จะมีการจัดกิจกรรมและเดินทางไปเยี่ยมเยียนของพี่น้องและเจ้าหน้าที่ราชการของทั้ง 2 อำเภอ และจะมีการหารือเรื่องสัตว์ป่าและป่าไม้
ประเด็นที่ 4 การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนโดยการจัดทำตลาดนัดฟรีเดย์ การขายสินค้าชุมชน (OTOP) ส่วนการเปิดจุดผ่อนปรนบ้าน Kalai (อำเภอเยอลี) บ้านภูเขาทอง (อำเภอสุคิริน) ทางอำเภอเยอลีแนะนำให้จุดเฝ้าตรวจมาตั้งประชิดชายแดนตรงที่จะเปิดจุดผ่อนปรน เพื่อให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของทั้ง 2 ฝ่าย สามารถสร้างความสนิทสนมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการที่จะเปิดด่านหรือจุดผ่อนปรนได้นั้นต้องหารือในข้อมูลอื่น ๆ ของทั้ง 2 ฝ่าย และเสนอผ่านสภาความมั่นคงของประเทศมาเลเซีย และของประเทศไทยจะต้องเตรียมข้อมูลดังต่อไปนี้
1) ปริมาณการค้าและการเดินทางเข้า – ออก ของบุคคล
2) ความพร้อมด้านการคมนาคม
3) ความพร้อมของส่วนราชการและหน่วยงานดูแลและปฏิบัติงาน
4) ความตกลงใจในระดับนโยบายรัฐบาล
5) เป็นจุดซึ่งไม่มีปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบต่อความมั่นคง
6) พิจารณาจุดด้านอื่น ๆ ประกอบ
ตามข้อตกลงในประเด็นที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2555 ได้มีการเชื้อเชิญข้าราชการและเจ้าหน้าที่อำเภอเยอลีมาเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมงานประเพณีบุญบั้งไฟ ณ บ้านไอกาเปาะ หมู่ที่ ๔ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โดยมี Tn. Haji Nik Mohd Azlan bin Abd. Hadi รองนายอำเภอเยอลีและคณะ จำนวน 30 คน เดินทางมาอำเภอสุคิริน และมีการเชื้อเชิญเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย โดยที่เลขาธิการ ศอ.บต. ได้มอบให้ นายวิเชียร จันทรโณทัย รองเลขาธิการ ศอ.บต. มาร่วมงานแทน และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้มอบให้ นายสามารถ วราดิศัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส มาร่วมงานแทน หลังจากร่วมกิจกรรมงานประเพณีบุญบั้งไฟ คณะได้เดินทางไปยังบริเวณด่านบ้านภูเขาทอง (ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส) – บ้านกาไล (ต.บาตูมือเล็นตัง อ.เยอลี รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย) เพื่อร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ในการเปิดจุดผ่อนปรนหรือด่านถาวรรองรับประชาคมอาเซียน ปี 2558 การค้าชายแดนสินค้าชุมชน (OTOP) และสินค้าทั่วไป การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษา อย่างไม่เป็นทางการ
ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 อำเภอชายแดน มีความสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น อำเภอได้จัดทำ ดังต่อไปนี้
1) โครงการสื่อสัมพันธ์และเรียนรู้ธรรมเนียมปฏิบัติ 2 อำเภอชายแดน” โดยจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเงิน 176,900 บาท
2) กรมการพัฒนาชุมชนสนับสนุนโครงการ “ลงแขกลงแรงพัฒนาหมู่บ้านของเรา (บูวะปากะกำปงกีตอ)” เป็นเงิน 50,000 บาท เพื่อเตรียมความพร้อมศูนย์เรียนรู้แบบเกื้อกูลรองรับการเปลี่ยนแปลงของประชาคมอาเซียน
การนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
จากผลการปฏิบัติงาน “การสร้างทีมงานเตรียมความพร้อมรองรับประชาคมอาเซียน ปี 2558 ของ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส” สามารถนำมาประยุกต์ใช้เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมประชาชน องค์กร เครือข่ายองค์กรประชาชนในพื้นที่ อาทิเช่น
1. การเตรียมความพร้อมด้านการจัดการข้อมูลของหน่วยงานและชุมชน[1] และข้อมูลสินค้าชุมชน (OTOP)[2] ของจังหวัดนราธิวาส
2. การพัฒนารูปแบบอื่นเพื่อให้เกิดการกระชับมิตรกับอำเภอชายแดน (Neighborhood bordering district) ซึ่งคาดว่าจะเกิดการพึ่งพาด้านการพัฒนาชุมชนในรูปแบบ win-win situation ได้แก่ การพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน การค้าสินค้าชุมชน (OTOP) การพัฒนาการศึกษาและวัฒนธรรมชุมชน ฯลฯ เป็นต้น
ความยุ่งยากในการดำเนินการ/ปัญหา/อุปสรรค
การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เป็นงานที่เกี่ยวข้องการสร้างสันถวไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผู้ปฎิบัติงานจะต้องเรียนรู้ถึงธรรมเนียมปฏิบัติ มีความระมัดระวังในการเจรจาและการบริหารความรู้สึก ต้องรู้เขารู้เรา ต้องมีศาสตร์และศิลป์ในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน อีกทั้งต้องนำเรียนให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงทราบถึงความก้าวหน้าไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ และต้องยกระดับการเชื่อมสัมพันธ์และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ จนถึงระดับชาติ จึงมีความยุ่งยากและต้องอาศัยความอดทน เสียสละ ความกล้า (brave) ที่จะก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดและคาดไม่ถึง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
ข้อค้นพบและข้อเสนอแนะ
การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 หากไม่ได้เริ่ม ณ บัดนี้แล้ว คาดว่าประชาชนของเราอาจไม่เท่าทันชาติอื่น ๆ ของอาเซียน โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียมีความพร้อมมากกว่าเราเกือบทุก ๆ ด้าน และต้องขอขอบพระคุณกรมการพัฒนาชุมชนและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ให้งบประมาณมาสนับสนุนการเตรียมความพร้อมเป็นการเบื้องต้น จึงใคร่ขอนำเสนอว่า กรมการพัฒนาชุมชน และ ศอ.บต. น่าจะมียุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 ด้วยรูปแบบ “การพัฒนาชุมชน”

บทวิเคราะห์/แนวความคิด
ความเป็นประชาคมอาเซียน ปี 2558(ASEAN Community 2015) เกี่ยวข้องโดยตรงกับชุมชน คือ คำว่า Community และต้องการการมีส่วนร่วม (หลักการพัฒนาชุมชน) จากทุกภาคส่วนสูง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้แนวความคิดการพัฒนาชุมชน (Community Development) ในการเตรียมความพร้อมประชาชน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ และให้ประชาชนมีความรู้สึกความเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาร่วมกัน (Collaborative Partnership) ซึ่งการพัฒนาใด ๆ ก็จะไม่สำคัญเท่ากับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะไม่ครอบคลุมเท่ากับการพัฒนาชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ด้วยหลักหรือเทคนิควิธี “การพัฒนาชุมชน”[3
ข้อ

ค้นพบ/ตัวชี้วัดหลัก
การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 อย่างมั่นใจและเท่าทันประเทศอื่นในอาเซียน ได้ค้นพบและเห็นควรดำเนินการตามตัวชี้วัด KUASA (กัวซา)[4] กล่าวคือ
1) K = Knowledge (ความรู้) คือ ต้องมีความรู้เรื่องอาเซียนหรือประเทศอาเซียนหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนอย่างแท้จริง จนกระทั่ง รู้เขารู้เรา
2) U = Understanding (มีความเข้าใจ) คือ ต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง วิคราะห์/สังเคราะห์ปรากฎการณ์เกี่ยวกับอาเซียนได้ สามารถศึกษาเปรียบเทียบประโยชน์และผลกระทบ (Comparative Advantage) ของการเป็นประชาคมอาเซียนได้
3) A = Attitude (ทัศนคติ) คือ ต้องมีการปรับทัศนคติให้เป็นเชิงบวกต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หากมีทัศนคติเชิงลบ ก็ไม่สามารถเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนได้ตั้งแต่ต้น
4) S = Skill (ทักษะ) คือ การทำงานเกือบทุกด้านหรือการใช้ภาษาต้องมีทักษะ ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนา มิฉะนั้น การพัฒนาบุคคลจะได้เพียงแค่ให้เรียนรู้เพื่อรู้ แต่ปฏิบัติงานไม่ได้
5) A = Action (ลงมือปฏิบัติ) คือ ความคิดทุกความคิด ย่อมไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จ ตามเป้าประสงค์ได้ หากปราศจากการปฏิบัติให้เกิดเป็นมรรคผล


[3] 1) Non-directive approach, 2) Self-help, 3) People participation, และ 4) Collaborative Partnership
[4] KUASA เป็นภาษามลายู แปลว่า พลัง (Power), ศักยภาพ (Potential), ความสามารถ, ทำได้, แข็งแรง (Strong)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น